TGAT คืออะไร ต้องสอบทุกคนไหม? รวมทุกเรื่องที่ควรรู้ก่อนลงสนามสอบ!
ปัจจุบันการสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยสำหรับระบบ TCAS67 และ TCAS 68 ที่จะถึงนั้นมีการสอบอยู่ด้วยกันหลากหลายรูปแบบ โดยหนึ่งในการสอบที่เด็ก ๆ ต่างให้ความสำคัญก็คือ TGAT ซึ่งเป็นการสอบวัดความถนัดทั่วไปที่ใช้คะแนนยื่นเพื่อเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในไทยได้ ดังนั้นบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อสอบ TGAT พร้อมตอบคำถามที่พบได้บ่อยอย่าง TGAT คืออะไร TGAT คะแนนเต็มเท่าไหร่ หรือ TGAT ต้องสอบทุกคนไหม? มาฝากให้น้อง ๆ ได้เตรียมตัวก่อนสอบ พร้อมแล้วก็ไปดูข้อมูลกันได้เลย
รู้จักการสอบ TGAT จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการเรียนต่อมหาวิทยาลัย
TGAT ย่อมาจาก Thai General Aptitude Test เป็นการสอบวัดความถนัดทั่วไปที่พัฒนาต่อยอดมาจากข้อสอบ GAT รูปแบบเดิม โดยการสอบ TGAT นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อนำคะแนนไปใช้ศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งข้อสอบ TGAT เป็นข้อสอบที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะสามารถนำไปใช้ยื่นเข้าศึกษาต่อผ่านระบบ TCAS ได้ทั้งหมด 4 รอบ ได้แก่ รอบ Portfolio, รอบ Quota, รอบ Admission และรอบ Direct Admission โดยแต่ละสถาบันศึกษาอาจมีการใช้คะแนน TGAT แตกต่างกันในแต่ละรอบ
หากน้อง ๆ คนไหนมีแพลนที่จะศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในไทยก็ควรจะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการสอบ TGAT อย่างละเอียด รวมทั้งคะแนนที่ต้องใช้ยื่นตามคณะหรือหลักสูตรที่สนใจในแต่ละรอบ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามสอบจริง
ข้อสอบ TGAT แบ่งออกเป็นกี่พาร์ท แต่ละพาร์ทมีเนื้อหาอะไรบ้าง?
TGAT ความถนัดทั่วไปนั้นมีข้อสอบทั้งหมด 3 พาร์ท ได้แก่ TGAT 1 การสื่อสารภาษาอังกฤษ TGAT 2 การคิดอย่างมีเหตุผล และ TGAT 3 สมรรถนะการทำงาน โดยแต่ละพาร์ทจะมีคะแนนเต็มทั้งหมด 100 คะแนน และมีระยะเวลาทำข้อสอบพาร์ทละ 60 นาที ซึ่งมีรายละเอียดของเนื้อหาข้อสอบ TGAT ดังต่อไปนี้
TGAT 1 : การสื่อสารภาษาอังกฤษ (English Communication)
TGAT 1 คือ ข้อสอบที่เน้นการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยข้อสอบ TGAT พาร์ทนี้เป็นข้อสอบพาร์ทเดียวที่มีเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษ และมีโครงสร้างของข้อสอบอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่
ทักษะการพูด มีจำนวนข้อสอบ 30 ข้อ 50 คะแนน ประกอบไปด้วย
- ข้อสอบรูปแบบถาม-ตอบ 10 ข้อ
- ข้อสอบเติมบทสนทนาแบบสั้น 10 ข้อ
- ข้อสอบเติมบทสนทนาแบบยาวอีก 10 ข้อ
ทักษะการอ่าน มีจำนวนข้อสอบ 30 ข้อ ประกอบไปด้วย
- การเติมเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์ 15 ข้อ
- การอ่านจับใจความเนื้อเรื่องจำนวน 3 บทความกับคำถาม 15 ข้อ
TGAT 2 : การคิดอย่างมีเหตุผล (Critical & Logical Thinking)
TGAT 2 คือ ข้อสอบที่จะวัดการวิเคราะห์ การคิดอย่างมีทักษะ และการให้เหตุผลเชิงปริมาณ โดยข้อสอบ TGAT พาร์ทนี้จะมีทั้งหมด 4 ส่วน แต่ละส่วนจะมีจำนวนข้อสอบ 20 ข้อ ได้แก่
- การสอบวัดความสามารถทางภาษา : มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอ่าน, การใช้ภาษา, ความเข้าใจภาษา และการสื่อความหมาย
- การสอบวัดความสามารถทางตัวเลข : มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิเคราะห์แก้โจทย์เลข การเปรียบเทียบเชิงข้อมูล และการทำโจทย์อนุกรม
- การสอบวัดความสามารถทางมิติสัมพันธ์ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับรูปทรงทางเรขาคณิตอย่างการทำโจทย์ประกอบภาพ, หาภาพต่าง, โจทย์หมุนภาพสามมิติและพับกล่อง
- การสอบวัดความสามารถทางเหตุผล : มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อความ การสรุปความโดยใช้หลักเหตุ-ผล
TGAT 3 : สมรรถนะการทำงาน (Future Workforce Competencies)
TGAT 3 คือ ข้อสอบพาร์ทที่ต้องการทดสอบทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต โดยเน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ตลอดจนการตัดสินใจ ซึ่งข้อสอบพาร์ทนี้จะมีการตอบคำถามด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่การเลือกคำตอบเพียงข้อเดียวและการเลือกคำตอบหลายข้อ ทำให้คะแนนของคำถามแต่ละข้อนั้นต่างกันออกไป โดยข้อสอบ TGAT นี้มีโครงสร้างทั้งหมด 4 ส่วน จำนวนข้อสอบทั้งหมด 60 ข้อ แต่ละส่วนมีคำถาม 15 ข้อ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม : มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอย่างมืออาชีพ การคิดเชิงวิเคราะห์และความคิดเชิงนวัตกรรม
- การวัดการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน : มีเนื้อหาเกี่ยวกับการระบุปัญหา การหาทางออก การประเมินทางออก เป็นต้น
- การบริหารจัดการอารมณ์ : มีเนื้อหาเกี่ยวกับการควบคุมอารมณ์และบุคลิกภาพ ความเข้าใจผู้อื่นและความตระหนักรู้
- การเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมของสังคม : มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น การมีจิตสำนึก และการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สรุปรายละเอียดของข้อสอบ TGAT ทั้ง 3 พาร์ท
TGAT 1 : การสื่อสารภาษาอังกฤษ | จำนวนข้อ | เวลาในการทำข้อสอบ | คะแนนเต็ม |
ทักษะการพูด | 30 | 60 นาที | 100 |
ทักษะการอ่าน | 30 | ||
TGAT 2 : การคิดอย่างมีเหตุผล | จำนวนข้อ | เวลาในการทำข้อสอบ | คะแนนเต็ม |
การสอบวัดความสามารถทางภาษา | 20 | 60 นาที | 100 |
การสอบวัดความสามารถทางตัวเลข | 20 | ||
การสอบวัดความสามารถทางมิติสัมพันธ์ | 20 | ||
การสอบวัดความสามารถทางเหตุผล | 20 | ||
TGAT 3 : สมรรถนะการทำงาน | จำนวนข้อ | เวลาในการทำข้อสอบ | คะแนนเต็ม |
การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม | 15 | 60 นาที | 100 |
การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน | 15 | ||
การบริหารจัดการอารมณ์ | 15 | ||
การเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมของสังคม | 15 |
การสอบ TGAT แตกต่างจากการสอบรูปแบบอื่นอย่างไร?
นอกจากข้อสอบ TGAT แล้วยังมีข้อสอบอีกหลายรูปแบบที่สามารถนำคะแนนมาใช้ยื่นเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในไทยได้ อาทิ ข้อสอบ TPAT หรือข้อสอบ A-Level ซึ่งการสอบดังกล่าวต่างมีรูปแบบข้อสอบและเนื้อหาสอบที่แตกต่างกัน โดยข้อสอบ TGAT กับ TPAT นั้นสามารถนำคะแนนมาใช้ยื่นได้ทุกรอบ แต่เนื้อหาข้อสอบทีแกทจะเป็นการสอบวัดความถนัดทั่วไปที่เน้นวัดทักษะที่จำเป็นต่อการใช้เรียนต่อแต่จะไม่ได้วัดความถนัดเฉพาะของแต่ละวิชาชีพเหมือนกับข้อสอบ TPAT ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนดสัดส่วนของคะแนนสอบ TGAT และ TPAT เอง
ส่วนข้อสอบ A-Level คือ ข้อสอบที่วัดความรู้ทางด้านวิชาการ ประกอบไปด้วยการสอบทั้งหมด 10 วิชา ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 1, คณิตศาสตร์ประยุกต์ 2, วิทยาศาสตร์ประยุกต์ , ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, ภาษาไทย, สังคมศึกษา, ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศ โดยสามารถเลือกสอบภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน, จีน, ญี่ปุ่น, บาลี หรือเกาหลี หากสังเกตจะเห็นว่าข้อสอบ A-Level มีลักษณะคล้ายกับการสอบ 9 วิชาสามัญ โดยคะแนนสอบ A-Level นั้นสามารถนำมาใช้ในการยื่นได้ในรอบ Quota รอบ Admission และรอบ Direct Admission เท่านั้น ไม่สามารถนำมายื่นในรอบ Portfolio ได้เหมือนข้อสอบทีแกท ทีแพท
ใครที่สามารถสอบ TGAT ได้บ้าง?
ผู้ที่สามารถสอบ TGAT ได้นั้นจะต้องเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า รวมไปถึงนักเรียนปวช. ปวส. และนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายจากต่างประเทศเท่านั้น โดยไม่อนุญาตให้นักเรียนในระดับชั้นอื่น ๆ เข้าสอบได้ และอย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่าข้อสอบ TGAT เป็นข้อสอบที่มีความสำคัญ เพราะสามารถนำคะแนนมาใช้ในการสมัครสอบได้หลายรอบ โดยแต่ละคณะหรือสาขาวิชาก็จะมีสัดส่วนของคะแนนสอบ TGAT และคะแนนในส่วนอื่น ๆ แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมในการสอบได้อย่างถูกต้องน้อง ๆ ควรจะต้องศึกษาสัดส่วนของคะแนนต่าง ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดให้ละเอียดด้วย
เตรียมตัวสอบ TGAT Eng ด้วยตัวเองได้ไหม?
สำหรับการสอบ TGAT Eng นั้นน้อง ๆ สามารถเตรียมตัวสอบด้วยตนเองได้โดยการทบทวนเนื้อหาและลองทำข้อสอบเก่า แต่สำหรับใครที่มีเวลาในการเตรียมตัวน้อยและต้องการเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษ รวมไปถึงเทคนิคในการทำข้อสอบ การเลือกติว TGAT Eng กับสถาบันสอนภาษาก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากน้อง ๆ จะได้เรียนรู้เทคนิคการทำข้อสอบแบบใหม่ ๆ แล้ว การติว TGAT Eng ยังช่วยเสริมความเข้าใจในบางทักษะที่น้อง ๆ อาจจะยังไม่มั่นใจได้อีกด้วย
การเลือกโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษหรือสถาบันติวสอบ TGAT Eng ก็เป็นส่วนที่มีความสำคัญ โดยควรเลือกสถาบันที่ตรงกับความต้องการของผู้เรียนและสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้สอบได้จริง โดยที่ Englishparks เรามีคอร์สเรียนติวเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น TGAT Eng หรือ A-Level ที่มีหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับระดับสากล เพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษในทุกทักษะ พร้อมตะลุยโจทย์ให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับแนวข้อสอบ ตลอดจนพิชิตคะแนนสอบเพื่อยื่นเรียนต่อมหาวิทยาลัยตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยผู้สอนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีประสบการณ์การสอนจากสถาบันชั้นนำระดับโลก
คำถามที่พบบ่อย (FAQ) เกี่ยวกับการสอบ TGAT
อ่านมาจนถึงตรงนี้น้อง ๆ หลายคนคงจะได้รู้จักกับข้อมูลและรายละเอียดของข้อสอบ TGAT กันไปแล้ว แต่หลายคนอาจจะยังมีคำถามอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบ TGAT กันอยู่ บทความนี้จึงได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการสอบ TGAT พร้อมเตรียมคำตอบมาให้น้อง ๆ ได้ศึกษาเพิ่มเติม โดยจะมีคำถามอะไรบ้างเราไปดูกันเลย
TGAT ต้องสอบทุกคนไหม?
การสอบ TGAT ไม่ใช่การสอบลักษณะบังคับ จึงไม่จำเป็นต้องเข้าสอบทุกคน แต่ TGAT เป็นหนึ่งในการสอบที่ถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาในระบบ TCAS ทุกรอบ ดังนั้นถึงแม้หากน้อง ๆ จะยังไม่รู้ว่าจะเข้าศึกษาต่อในคณะหรือมหาวิทยาลัยไหนดีแต่ก็ควรจะสมัครสอบ TGAT เอาไว้เพื่อไม่เป็นการตัดโอกาสในการศึกษาต่อนั้นเอง
การสอบ TGAT มีค่าใช้จ่ายหรือไม่?
การสอบทีแกทจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับการสมัครสอบอยู่ที่ 140 บาท หากสอบผ่านคอมพิวเตอร์ และ 200 บาท หากสอบด้วยกระดาษ ซึ่งน้อง ๆ สามารถชำระค่าสมัครสอบได้จากหลายช่องทาง ได้แก่ การชำระผ่าน QR Code ทุกธนาคารโดยไม่มีค่าธรรมเนียม หรือจะพิมพ์ใบแจ้งชำระเงินค่าสมัครสอบแล้วนำไปชำระเงินที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสได้ทุกสาขาแต่จะมีค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อรายการ
คะแนนสอบ TGAT มีอายุกี่ปี?
คะแนนสอบ TGAT จะมีอายุเพียง 1 ปีเท่านั้น ดังนั้นน้อง ๆ ที่ตัดสินใจว่าจะเริ่มศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในปีต่อ ๆ ไป หรือต้องการเปลี่ยนคณะโดยลาออกจากมหาวิทยาลัยเดิมแล้วเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยใหม่จะไม่สามารถใช้คะแนน TGAT ของปีที่แล้วมายื่นเข้าศึกษาต่อได้นั่นเอง
TGAT มีสอบช่วงไหน?
การสอบ TGAT จะจัดสอบในช่วงเดือนธันวาคมเป็นต้นไป แต่น้อง ๆ สามารถสมัครสอบได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุก ๆ ปี
สรุป การสอบ TGAT เตรียมตัวให้ดีเพื่อพิชิตคะแนนสอบพร้อมเข้ามหาวิทยาลัยในฝัน!
การสอบวัดความถนัดทั่วไป (TGAT) เป็นการสอบรูปแบบหนึ่งที่มีความสำคัญกับน้อง ๆ ที่ต้องการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในไทยผ่านระบบ TCAS โดยข้อสอบจะประกอบด้วยการวัดทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ ทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล และสมรรถนะการทำงาน ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกนักศึกษารวมไปถึงสัดส่วนของคะแนน TGAT อาจแตกต่างกันไปในแต่ละมหาวิทยาลัย ดังนั้นน้อง ๆ ควรศึกษารายละเอียดในส่วนนี้ให้ดีเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย
สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังมองหาที่เรียนภาษาอังกฤษที่มีเทคนิคในการสอบ TGAT และคอร์สเรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ Englishparks สถาบันสอนภาษาเราพร้อมจะช่วยให้น้อง ๆ พิชิตคะแนนสอบ TGAT พาร์ททักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษให้ได้คะแนนดีเพื่อนำไปยื่นเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในฝัน หากน้อง ๆ คนไหนที่สนใจคอร์สเรียนสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://englishparks.in.th/about-us/